เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรมสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “ห่วงโซ่ความยั่งยืน ฟื้นการท่องเที่ยวไทย” ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทางช่องทาง Facebook Page : https://www.facebook.com/tatstar.green เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ตามแนวคิดมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน STGs 17 เป้าหมาย รวมทั้ง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการปรับตัวเพื่อสร้างความพร้อมและสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ นำสู่ความมั่งคงและแข็งแรงของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต
ตามที่ ททท. ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Acceleration Rating : STAR) เพื่อเร่งยกระดับขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน Shape supply ให้เกิดการพัฒนาบนพื้นฐานของความปลอดภัยและความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน” นำไปสู่ High Value Services & Standard ซึ่งจะมีการมอบ “ดาวแห่งความยั่งยืน” แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตนเอง STGs Easy โดยมีเกณฑ์พื้นฐาน 3 หัวข้อ ได้แก่ STG13 มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง STG16 สภาพภูมิอากาศการคำนึงถึงความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว และ STG17 การบรรลุเป้าหมาย STGs ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน เป็นเกณฑ์หลักเบื้องต้นของผู้ประกอบการนั้น
ในโอกาสนี้ ททท. จึงได้ต่อยอดโครงการ STAR จัดกิจกรรมสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ห่วงโซ่ความยั่งยืน ฟื้นการท่องเที่ยวไทย” แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านช่องทาง Facebook Page : https://www.facebook.com/tatstar.green โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ได้แก่ นายนพดล สุทธิธนกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ปะการัง เกาะหมาก จ.ตราด, นายนิพนธ์ สุทธิธนกูล จาก Trash Hero กลุ่มโครงการเก็บขยะเพื่อสังคมที่ดีขึ้น เกาะหมาก จ.ตราด และนายพงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco และผู้ขับเคลื่อน Slow Food Chiang Mai ร่วมบรรยาย สร้างแรงบันดาลใจจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด STGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน มีความพร้อม และภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน ซึ่งเนื้อหาของการบรรยายมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

นายนพดล สุทธิธนกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ปะการัง เกาะหมาก จ.ตราด บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ
การอนุรักษ์ท้องทะเลซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยกลุ่มอนุรักษ์ปะการังขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมหลากหลายทั้งการร่วมกันปลูกปะการังและหญ้าทะเลเพื่อสร้างระบบนิเวศทางทะเลและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนท้องถิ่นที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรบนเกาะหมาก ทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบจนได้รับการยกย่องเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low carbon destination) แห่งแรกในประเทศไทย จาก Green Destinations Foundation พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมท่องเที่ยวเกาะหมาก หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/kohmak.corals

อีกหนึ่งภาคส่วนที่มีส่วนช่วยให้เกาะหมาก จ.ตราด ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน Green Destinations ระดับโลก คือ Trash Hero กลุ่มโครงการเก็บขยะเพื่อสังคมที่ดีขึ้น เกาะหมาก จ.ตราด นำโดย นายนิพนธ์ สุทธิธนกูล กำลังสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างคนท้องถิ่น สถานประกอบการในเกาะหมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงนักท่องเที่ยว ให้ร่วมกันตระหนักถึงปัญหาขยะชายฝั่งทะเลและขยะในทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาล ด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการส่งต่อความรักและความรู้เกี่ยวกับการเก็บขยะ ลดขยะ แยกขยะให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและขยายผลต่อยอดสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทยให้สวยงามและยั่งยืน ตลอดจนเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมเก็บขยะชายฝั่งทะเล สามารถติดต่อร่วมกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/trashherokohmak

นอกจากนี้ นายพงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco และผู้ขับเคลื่อน Slow Food Chiang Mai ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อความหลากหลายของอาหารและส่งผลต่อเนื่องถึงความอยู่รอดของมนุษย์ด้วย โดยแนะนำถึงการที่ธรรมชาติถูกทำลายส่งผลต่อความหลากหลายของอาหารและส่งผลระยะยาวต่อมนุษย์ ในส่วนของการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวได้จากการลงมือทำคนละไม้ละมือ อาทิ โรงแรม สามารถเลือกอาหารที่จะนำมาบริการที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีกระบวนการผลิตที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มันอาจจะยากและเหนื่อยเพราะต้องคัดสรรอย่างจริงจัง แต่จะส่งผลดีต่อเราในอนาคต ทั้งยังกล่าวปิดท้ายถึงความยินดีให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมหากมีผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โดยสามารถติดต่อได้ที่ www.facebook.com/Sansaicisco
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือนักท่องเที่ยว สามารถรับชมย้อนหลังและติดตามข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Acceleration Rating : STAR) ได้ที่ https://www.facebook.com/tatstar.green และผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ STAR สามารถสมัครผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.TATstar.org หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Line official : @tatstar